เมื่อกลับไปเรียนตามปกติ

สิ่งที่ครูผู้สอนควรเฝ้าสังเกตนักเรียนเมื่อกลับมาเรียนตามปกติ

หลังจากที่การศึกษาไทยต้องใช้การเรียนการสอนออนไลน์เป็นหลักในการจัดการศึกษามาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลให้สถานศึกษาต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง จะต้องระงับการเรียนการสอนและงดใช้สถานศึกษาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในที่สุด เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย ก็ได้เวลากลับสู่เรียนในรูปแบบปกติพร้อม ๆ การคลายล็อคและการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ

และจากการคลายล็อกในเรื่องนี้ ก็นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สถานศึกษาบางแห่งเริ่มจะกลับมาทำการเรียนการสอนที่สถานศึกษาตามปกติ และอีกหลายสถานศึกษาก็กำลังทยอยเปิดตามความพร้อมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งถึงแม้ว่าการเปิดเรียนนี้จะไม่ใช่การเปิดแบบปกติเต็มรูปแบบ เพราะเปิดเฉพาะนักเรียนในระดับชั้นที่เข้ารับวัคซีนแล้วและยังถือเป็น On-site ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด แต่ก็นับเป็นการแสดงที่ทำให้เห็นถึงทิศทางที่ดีขึ้นของสถานการณ์นี้

เป็นธรรมดาที่เมื่อกลับไปเรียนตามปกติแล้ว ครูผู้สอนมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องเรียนของนักเรียนเป็นหลัก เพราะแม้ว่านักเรียนจะได้เรียนออนไลน์ แต่ความเข้าใจในบทเรียนของนักเรียนนั้น หลายคนอาจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการเรียนตามปกติ ดังนั้นครูผู้สอนจึงอาจจำเป็นต้องเคี่ยวเข็ญและจัดการเรียนการสอนอย่างจริงจังมากขึ้นเพื่อชดเชยกับเวลาที่เสียไป และทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเรื่องของการเรียนนั้นจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ใช่ว่าเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนนั้นจะไม่มีผลอะไรต่อตัวของนักเรียนเลย เพราะเรื่องต่าง ๆ เหล่านั้น อาจมีอิทธิพลหรือส่งผลต่อตัวนักเรียนมากกว่าที่คิด และอาจจะส่งผลต่อการเรียนของนักเรียนตามไปด้วย ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรใส่ใจและควรเฝ้าระวังความผิดปกติต่าง ๆ ของนักเรียน โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มกลับมาเรียน ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนหาทางแก้ไขได้อย่างเหมาะสมพบปัญหา โดยเรื่องที่ครูผู้สอนควรเฝ้าสังเกตนักเรียนเมื่อกลับมาเรียนตามปกตินั้น ได้แก่

1. การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน
แม้ว่ามาตรการล็อกดาวท์ จะส่งผลให้นักเรียนต้องเรียนด้วยตัวเองที่บ้าน แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไม่ติดต่อสื่อสารอะไรกันเลย เพราะยุคปัจจุบันเราสามารถสื่อสารกับได้ง่ายขึ้นผ่านเครือข่ายออนไลน์ มันจึงเป็นเรื่องง่ายมากในการติดต่อสื่อสารกันโดยไม่จำเป็นจะต้องไปมาหาสู่กันเหมือนเช่นปกติ ดังนั้นการที่นักเรียนคนใดคนหนึ่งถอยห่างในเรื่องนี้อย่างมีนัยยะ ย่อมเป็นสัญญาณที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง

สังเกตนักเรียนบางคนที่แยกตัวออกจากกลุ่ม ไม่สุงสิงกับใคร หรือถูกกลั่นแกล้งในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งถ้าการแยกตัวนั้น ไม่ใช่เกิดจากอุปนิสัยตามปกติ อาจคาดคะเนได้ว่านักเรียนอาจมีปัญหาในเรื่องการปฏิสัมพันธ์หรือกำลังมีปัญหาบางอย่างกับกลุ่มเพื่อน

เมื่อกลับไปเรียนตามปกติ

 

2. สภาพจิตใจ
การอยู่บ้านเป็นเวลานาน โดยที่แทบจะไม่ได้ไปไหนเลย อาจส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมได้ ยิ่งบางครอบครัวอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่แต่มีพื้นที่ใช้สอยของแต่ละคนอย่างจำกัดหรือจำเป็นต้องแชร์พื่นที่กัน ก็ยิ่งสร้างความกดดัน ความอึดอัด และความเครียดให้เกิดขึ้นได้ทั้งกับตัวนักเรียนและบุคคลในครอบครัวได้ และยิ่งกับครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเชื้อ หรือต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัวเพราะอาหารป่วย สภาพจิตใจของนักเรียนและคนในครอบครัวก็ยิ่งย่ำแย่มากขึ้นไปอีก ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรสังเกตนักเรียนแต่ละคนในความดูแลให้ดี ว่าพวกเขามีสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไปจากก่อนหน้านี้หรือไม่ เช่น มีอารมณ์ร้อนมากขึ้น มีความเครียดสะสม โศกเศร้า หรือ หวาดระแวง ซึ่งครูผู้สอนควรเฝ้าระวัง รวมถึงพูดคุยให้คำปรึกษากับนักเรียนเป็นระยะ เพื่อให้นักเรียนมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น

3. สุขภาพ
โรคโควิด 19 นั้น แม้จะเริ่มลดลงแต่ก็ใช่ว่ามันจะหายไป เรายังจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาจนต้องกลับไปเรียนออนไลน์กันอีก ดังนั้นการปล่อยให้นักเรียนที่มีความเสี่ยงหรือป่วย เข้าไปในสถานศึกษาอาจส่งผลให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการคัดกรองและซักประวัติอย่างเหมาะสมเป็นประจำ

และนอกจากนี้การที่นักเรียนเรียนออนไลน์ที่บ้านเป็นเวลานาน อาจทำให้นักเรียนมีสุขภาพที่ไม่ดี เช่น น้ำหนักเกินมาตรฐาน สายตาเสีย หรือเป็นออฟฟิศซินโดรม โดยครูผู้สอนอาจสังเกตนักเรียนว่ามีปัญหาน้ำหนักขึ้นหรือไม่ มีปัญหาการมองเห็นหรือไม่ หรือมีความรู้สึกปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งการสังเกตนี้จะช่วยให้ครูผู้สอนเห็นปัญหาและหาข้อแนะนำในการรักษาที่เหมาะสมกับนักเรียนได้

4. การเงิน
การใช้จ่ายของนักเรียนนั้นสามารถช่วยให้ครูผู้สอนคาดคะเนได้ว่านักเรียนกำลังประสบปัญหาด้านการเงินอยู่หรือไม่ เพราะในช่วงของการระบาดนั้น มีหลายครอบครัวที่ประสบปัญหาด้านการเงินเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดและจากมาตรการป้องกันโรค ทำให้มีปัญหาด้านการเงิน และอาจส่งผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตของนักเรียนได้

เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ครูผู้สอนไปดูว่านักเรียนมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากน้อยแค่ไหน แต่อยากให้ครูผู้สอนคอยสังเกตนักเรียนแต่ละคนว่าเขามีปัญหาทางการเงินหรือไม่ ซึ่งปัญหาทางการเงินนี้ อาจเกิดจากที่ตัวนักเรียนเอง หรือเป็นผลพวงมาจากครอบครัวก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม อาจจะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าได้ เช่น ปัญหาการลักขโมย หรือ ปัญหาการพนัน เป็นต้น

5. การเรียน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสำหรับนักเรียนแล้ว เรื่องของการเรียนก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องใส่ใจแทบจะตลอดเวลา และถึงแม้ในชีวิตนักเรียนจะมีความสนใจเรื่องอื่น ๆ มากมาย เรื่องการเรียนก็ยังถึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก ๆ ของนักเรียนส่วนใหญ่

การแสดงออกทางการเรียนของนักเรียนนั้น อาจช่วยให้ครูผู้สอนมองเห็นความสามารถ หรือแม้แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียนได้ ซึ่งการที่นักเรียนเรียนหนังสือได้แย่ลง หรือเริ่มไม่สนใจการเรียน อาจเป็นการแสดงให้เห็นถึงสัญญาณบางอย่างจากนักเรียน ซึ่งครูผู้สอนควรที่จะเข้าไปพูดคุยและสอบถามนักเรียนเพื่อให้ได้ทราบถึงต้นตอของปัญหา แล้วร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขอย่างเหมาะสม

ในช่วงเรียนออนไลน์นักเรียนแต่ละคนอาจพบเจอกับเหตุการณ์ที่แตกต่างกันไป บ้างก็เจอเรื่องที่ดี แต่บางคนก็เจอกับปัญหา ซึ่งครูผู้สอน โดยเฉพาะที่เป็นครูประจำชั้น ควรที่จะต้องสังเกตและเฝ้าระวังนักเรียนของตัวเองให้ดีว่า พวกเขากำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่หรือไม่ เพื่อที่จะได้ให้คำปรึกษาหรือหาแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสมได้ และทำให้นักเรียนแก้ไขหรือจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม และกลับมาเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ sassarionline.net

Releated